“ต้อหิน” อันตรายกว่าที่คิด อีกหนึ่งปัญหาดวงตาที่อาจจะไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า
ต้อหิน เป็นปัญหาทางด้านดวงตา ที่อาจร้ายแรงจนกระทั่งส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็อาจจะไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนของอาการเจ็บป่วย และไม่อาจทราบได้ถึงเหตุผลที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งถือเป็นภาวะเสี่ยง เพราะหากเป็นแล้ว แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม
ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมของขั้วประสาทตา ซึ่งผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ โดยเกิดจากการคั่งของน้ำในลูกตาทำให้ความดันในลูกตาสูง ส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆ แคบลง เริ่มจากมองเห็นตรงกลาง แต่การมองเห็นด้านข้างๆ จะเห็นลดลงและอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด โรคต้อหิน มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และเกิดจากกรรมพันธุ์ที่คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ซึ่งนอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุทางตา เบาหวานขึ้นจอตา หรือความผิดปกติในเด็กแรกเกิด - 3 ปี รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินด้วย โดยเราสามารถแยกอาการต้อหินออกได้เป็น 2 ประเภท
- แบบเฉียบพลัน: ตาพร่ามัว มองไม่ชัด ปวดตา เมื่ออาการหนักขึ้น อาจถึงขั้นอาเจียนได้ หากรักษาไม่ทัน ตาอาจบอดได้
- แบบเรื้องรัง: ตาจะพร่ามัว มองไม่ชัด ประสาทตาจะค่อยๆ เสื่อม หากไม่ได้รับการตรวจและรักษาตาอาจบอดได้โดยไม่รู้ตัว
การรักษาโรคต้อหินแบบเรื้องรังจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ใช้ยาหยอดตา มีหลายชนิด ควรใช้ขนาดยาและชนิดยาต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
- ยาสำหรับรับประทาน ถ้าใช้ยาหยอดแล้วยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ยาที่รับประทานจำพวก diamox อาจทำให้มีอาการชาที่มือและเท้า
- การทำเลเซอร์ ในกรณีที่ใช้ยาข้างต้น แล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร
- การผ่าตัด จะแนะนำเมื่อการรักษาข้างต้นยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
การรักษาโรคต้อหินแบบเฉียบพลันจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันตา
- การฉีดยาเข้าส้นเลือดเพื่อลดความดันในลูกตาแบบทันทีทันใด และสามารถรักษาต้อหินด้วยวิธีเลเซอร์ต่อไป
- การผ่าตัด จะแนะนำเมื่อการรักษาข้างต้นยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ดังนั้นหากรู้สึกว่าตนเองกำลังมีอาการดังกล่าว หรือกำลังเป็นโรคต้อหิน ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรักษาได้ทันท่วงที